จะได้หายข้องใจ ไทยลีคออกมาชี้แจง 4 คู่จังหวะกังขา 

ฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสิน ชี้แจงเหตุการณ์ และการทำหน้าที่ ในการแข่งขันฟุตบอล รีโว่ ไทยลีก ฤดูกาล 2022/23 แมตช์เดย์ที่ 23 หลังจากได้รับรายงานจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยได้ออกมาชี้แจงทั้งหมด 4 คู่ 

♦️เหตุการณ์ที่ 1 คู่ระหว่าง ลำพูน วอริเออร์ พบ พีที ประจวบ เอฟซี ในนาทีที่ 7

ในจังหวะที่ลูกบอลสัมผัสแขน ประสิทธิ์ จันทุม กองกลาง พีที ประจวบ เอฟซี เป็นแฮนด์บอล และ จุดโทษหรือไม่..? นั้น 

เหตุการณ์นี้ ผู้ตัดสินไม่ได้ให้เป็นจุดโทษ เนื่องจากมองเห็นว่าจังหวะที่ลูกบอลสัมผัสแขนนั้น ตำแหน่งของแขนแนบลำตัวไม่ได้ทำให้ร่างกายใหญ่ขึ้น

– หลังจากนั้น VAR ได้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นตรงกับผู้ตัดสินว่า ไม่ได้มีการทำผิดกติกาเกิดขึ้น เนื่องจากขณะที่บอลสัมผัสแขน แขนยังอยู่ใกล้ชิดลำตัวอยู่ ไม่ได้ทำร่างกายให้ใหญ่ขึ้นผิดธรรมชาติ ถึงแม้ว่าหลังจากที่บอลสัมผัสแขนแล้ว แขนจะมีการเคลื่อนที่ต่อออกไปก็ตาม แต่ไม่ได้เกิดขึ้นในขณะที่บอลสัมผัสแขน ซึ่งการพิจารณาแฮนด์บอล จะพิจารณาตำแหน่งของแขนขณะที่บอลสัมผัสแขนเท่านั้น

– เหตุการณ์ที่ VAR เห็นตรงกับผู้ตัดสินในสนาม จะไม่มีการแนะนำให้ผู้ตัดสินมาทำการตรวจสอบภาพเหตุการณ์จากจอ VAR ข้างสนาม (On-Field Review) แต่ VAR จะแจ้งกับผู้ตัดสินว่าได้ตรวจสอบเหตุการณ์เสร็จสิ้นแล้ว (Check Complete) และสามารถเริ่มเล่นตามกรณีได้เลย

♦️เหตุการณ์ที่ 2 คู่ระหว่าง เมืองทอง ยูไนเต็ด พบ โปลิศ เทโร เอฟซี  ในนาทีที่ 86

ในจังหวะที่เอริค โจฮาน่า กองหน้า เมืองทอง ยูไนเต็ด ได้รับใบเหลืองที่สอง เป็นใบแดง..? นั้น 

เหตุการณ์นี้ เอริค โจฮาน่า ได้รับบาดเจ็บ และผู้ตัดสินได้อณุญาตให้แพทย์เข้ามาปฐมพยาบาลในสนาม 

– หลังจากที่ปฐมพยาบาลเสร็จ ผู้เล่นต้องออกจากสนามตามกติกาการแข่งขัน ข้อที่ 5 – ผู้ตัดสิน (Law 5 – The Referee หัวข้อ การบาดเจ็บ (Injuries) ที่ระบุไว้ว่า ‘หากผู้ตัดสินอณุญาตให้แพทย์ และ/หรือ พลเปลเข้าไปในสนามแข่งขัน ผู้เล่นจะต้องออกจากสนาม โดยอาจจะขึ้นเปลหรือเดินออกก็ได้ ผู้เล่นที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับการคาดโทษสำหรับการประพฤติตนอย่างไม่มีน้ำใจนักกีฬา (Unsporting Behaviour)’

– เหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ตัดสินได้ทำการสื่อสารกับผู้เล่นให้ออกจากสนามแล้ว ตามคลิปที่ชี้แจง ซึ่งจะเห็นได้ว่าแพทย์ทั้ง 2 คนได้เดินออกจากสนามเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้เล่นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ตัดสิน จึงทำให้ต้องถูกคาดโทษใบเหลือง ตามกติกาการแข่งขันข้อที่ 5 โดยผู้เล่นดังกล่าวได้รับใบเหลืองไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงต้องถูกคาดโทษใบแดง ไล่ออก

♦️เหตุการณ์ที่ 3 คู่ระหว่าง ขอนแก่น ยูไนเต็ด พบ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ในนาทีที่ 25

ในจังหวะที่ พาตริก กุสตาฟส์สัน กองหน้า บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ยิงประตูได้ เป็นประตูหรือไม่..? นั้น 

เหตุการณ์นี้ ผู้ตัดสินได้ให้เป็นประตูในจังหวะแรก เนื่องจากผู้ช่วยผู้ตัดสินไม่ได้ยกธงให้สัญญานว่ามีการล้ำหน้าเกิดขึ้น

– หลังจากนั้น VAR ได้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว โดยพิจารณาจากจังหวะแรกที่สันติภาพ จันทร์หง่อม ผู้เล่นบีจี ปทุม ยูไนเต็ด พยายามยิงประตู บอลได้ไปสัมผัสโจชัว โกรเมน กองหลัง ขอนแก่น ยูไนเต็ด ที่เจตนาป้องกันการทำประตู ก่อนที่บอลจะเคลื่อนที่ไปหา พาตริก กุสตาฟส์สัน ยิงประตูเข้าไป

– ในจังหวะที่สันติภาพ จันทร์หง่อม ยิงประตูนั้น พาตริก กุสตาฟส์สัน ยืนอยู่ในตำแหน่งล้ำหน้า และได้รับบอลจากการเจตนาป้องกัน (Deliberate Save) ของฝ่ายตรงข้าม ทำให้ VAR พิจารณากรณีนี้ว่ามีการล้ำหน้าโดยอาศัยความได้เปรียบจากตำแหน่งล้ำหน้า (Gaining an Advantage) เกิดขึ้น

– ซึ่งการพิจารณาการล้ำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเล่น ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง (Factual Decision) VAR สามารถแจ้งผู้ตัดสินให้กลับคำตัดสินได้เลยตาม VAR Protocol

♦️เหตุการณ์ที่ 4 คู่ระหว่าง หนองบัว พิชญ เอฟซี พบ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในนาทีที่ 84

ในจังหวะที่ อดิศร พรหมรักษ์ กองหลัง หนองบัว พิชญ เอฟซี เตะไปโดนบริเวณใบหน้าของ ลอนซานา ดูมบูยา กองหน้า บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นใบแดงหรือไม่..? นั้น 

เหตุการณ์นี้ ผู้ตัดสินได้ทำการคาดโทษใบเหลืองให้กับผู้เล่นหนองบัว พิชญ เอฟซี เนื่องจากเห็นว่ามีความรุนแรงของการปะทะอยู่ในระดับปานกลาง (Medium Intensity) เพราะขาของฝ่ายรับไม่ได้เหวี่ยงเข้าหาฝ่ายรุกโดยตรง แต่เป็นการเคลื่อนที่จากล่างขึ้นบน ซึ่งมองว่าเป็นการทำผิดกติกาที่ขาดการไตร่ตรองยั้งคิด (Reckless)

– หลังจากนั้น VAR ได้ทำการตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีความเห็นแตกต่างจากผู้ตัดสินในสนามว่า ในจังหวะที่มีการแย่งชิงบอลกันนั้น ผู้เล่นของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เล่นบอลได้ก่อน ก่อนที่ผู้เล่นของหนองบัว พิชญ เอฟซี จะพยายามเตะไปที่บอล แต่เตะพลาดไปโดนบริเวณใบหน้าของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นอวัยวะที่เปราะบาง และมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บร้ายแรงได้ จึงมีความเห็นว่ามีโอกาสเป็นการกระทำผิดกติกาอย่างร้ายแรง (Serious Foul Play)

– หลังจาก VAR ได้ทำการตรวจสอบแล้วนั้น ได้แนะนำให้ผู้ตัดสินมาตรวจสอบภาพเหตุการณ์จากจอ VAR  ข้างสนาม (On-Field Review) เนื่องจากเหตุการณ์นี้ต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา (Subjective Decision) เพื่อให้ผู้ตัดสินได้พิจารณาว่า การกระทำผิดกติกาดังกล่าวควรลงโทษเป็นใบแดงโดยตรงหรือไม่

– เมื่อผู้ตัดสินได้ตรวจสอบอีกครั้งจากจอ VAR แล้ว เห็นว่าผู้เล่นฝ่ายรับพยายามเข้าแย่งชิงลูกบอลที่ลอยอยู่ในอากาศ โดยการพยายามเตะไปที่บอล แต่เข้าถึงบอลช้ากว่าผู้เล่นฝ่ายรุก ทำให้เกิดการผิดพลาดเกิดขึ้น หลังจากนั้น หลังเท้าของผู้เล่นฝ่ายรับได้เคลื่อนที่ไปสัมผัสบริเวณใบหน้าของผู้เล่นฝ่ายรุก แต่ความรุนแรงในการสัมผัสไม่มากนัก สังเกตได้จากเมื่อเกิดการปะทะแล้วนั้น เท้าของผู้เล่นฝ่ายรับได้มีการเคลื่อนที่ออกทันที โดยไม่มีโมเมนตั้มในการเคลื่อนที่ต่อไปหาฝ่ายรุก ประกอบด้วยว่าผู้เล่นฝ่ายรุกก็มีการเคลื่อนที่เข้าหาเช่นกัน โดยจุดที่สัมผัสเป็นบริเวณหลังเท้าไม่ใช่ปุ่มสตั๊ด ทำให้ผู้ตัดสินยังพิจารณายืนยันตามคำตัดสินเดิม โดยการให้ใบเหลืองจากการทำผิดกติกาที่ขาดการไตร่ตรองยั้งคิด (Reckless)

#FAThailand #Referee